การบินข้ามทะเลแทสมัน ค.ศ. 1928 ของ ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิท

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1928 คิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มบินข้ามประเทศออสเตรเลียโดยไม่จอดพักจากพอยต์คุกใกล้เมืองเมลเบิร์นไปยังเพิร์ท รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียได้สำเร็จ พวกเขาต่อมาได้จดทะเบียนจัดตั้งสายการบินออสเตรเลียนแนชันนัลแอร์เวส์ และตัดสินใจที่จะพยายามบินข้ามทะเลแทสมันไปยังประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากยังไม่มีใครเคยทำได้สำเร็จมาก่อน และพวกเขาคิดว่าถ้าทำได้สำเร็จจะสามารถต่อรองกับรัฐบาลออสเตรเลียทำสัญญาขนส่งพัสดุระหว่างสองประเทศนี้โดยมีเงินสนับสนุนได้[34] นักบินชาวนิวซีแลนด์สองคนได้แก่จอห์น มอนครีฟฟ์ และจอร์จ ฮุดได้พยายามบินข้ามช่องแคบนี้เมื่อเดือนมกราคมปีเดียวกันแต่พวกเขาหายสาบสูญโดยไม่มีใครพบอีกเลย[35]

คิงส์ฟอร์ด สมิทวางแผนว่าจะบินจากริชมอนด์ใกล้กับซิดนีย์ในวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1928 และจะลงจอดเวลาประมาณ 9:00 น. ของวันที่ 3 กันยายนที่วิกรัมแอโรโดรม ใกล้กับไครสต์เชิร์ช เมืองสำคัญบนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ แผนการดังกล่าวทำให้บรรดาบาทหลวงในประเทศนิวซีแลนด์ไม่พอใจและประท้วงเนื่องจากเป็นการดูหมิ่นคุณค่าของวันสะบาโต[36]

ผู้คนยืนรอรับชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิทบนถนนในบริสเบน ค.ศ. 1928

นายกเทศมนตรีของไครสต์เชิร์ชก็สนับสนุนการประท้วงของบรรดาบาทหลวงดังกล่าวและส่งข้อความทางโทรเลขไปยังคิงส์ฟอร์ด สมิท อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศเหนือทะเลแทสมันเลวร้ายลงและคิงส์ฟอร์ด สมิทตัดสินใจเลื่อนการเดินทางออกไป จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าการประท้วงดังกล่าวมีผลต่อคิงส์ฟอร์ด สมิทหรือไม่[34]

คิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรือได้แก่อูล์ม และลูกเรือชาวนิวซีแลนด์สองคนได้แก่แฮโรลด์ อาร์เทอร์ ลิตช์ฟีลด์ ผู้นำทาง และโทมัส เอช. แมกวิลเลียมส์ ผู้ควบคุมวิทยุ ซึ่งทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้จัดหาให้ เดินทางออกจากริชมอนด์ตอนเย็นวันที่ 10 กันยายน และบินข้ามคืนเป็นเวลา 14 ชั่วโมงและลงจอดในตอนเช้า เส้นทางบิน 2,600 กิโลเมตร (1,600 ไมล์) ที่วางแผนไว้นั้นมีระยะประมาณครึ่งหนึ่งของระยะทางจากฮาวายและฟีจีเท่านั้น สภาพอากาศระหว่างทางไม่ดีนักซึ่งทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะตัวเครื่องและทำให้การบินเป็นไปอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศบริเวณช่องแคบคุกระหว่างเกาะเหนือและเกาะใต้นั้นดีกว่าระหว่างทางที่ผ่านมา เมื่อพวกเขาอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศนิวซีแลนด์ประมาณ 241 กิโลเมตร (150 ไมล์) พวกเขาได้ทิ้งพวงหรีดเพื่อระลึกถึงมอนครีฟฟ์และฮุดที่หายสาบสูญไประหว่างพยายามบินข้ามทะเลแทสมันเมื่อต้นปี[37]

เซาเทิร์นครอสส์ลงจอดที่ไครสต์เชิร์ชเมื่อเวลา 9:22 น. หลังบินเป็นระยะเวลา 14 ชั่วโมง 25 นาที ฝูงชนมารอต้อนรับคิงส์ฟอร์ด สมิทและลูกเรืออย่างล้นหลามกว่า 30,000 คน รวมทั้งนักเรียนจากโรงเรียนของรัฐบาลที่ประกาศปิดเป็นกรณีพิเศษ และข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้หยุดงานจนถึงเวลา 11 นาฬิกา[37] เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้กระจายเสียงสดออกทางวิทยุด้วย[38]

กองทัพอากาศนิวซีแลนด์อาสาตรวจสภาพเครื่องบินเซาเทิร์นครอสส์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และพาคิงส์ฟอร์ด สมิทและอูล์มเที่ยวชมประเทศนิวซีแลนด์โดยใช้เครื่องบินบริสตอล เอฟ.2 ไฟเตอส์[34]

พวกเขาเดินทางกลับริชมอนด์โดยตั้งต้นจากเมืองเบลนิม เมืองเล็กทางตอนเหนือของเกาะใต้ การบินกลับประสบปัญหาเนื่องจากหมอก สภาพอากาศที่เลวร้าย และการนำทางที่ผิดพลาดเล็กน้อย ทำให้ต้องใช้เวลากว่า 23 ชั่วโมงจึงจะถึงริชมอนด์ และเมื่อลงจอดแล้วเครื่องบินเหลือเชื้อเพลิงมากพอที่จะให้บินต่อได้อีกเพียง 10 นาทีเท่านั้น[34]

ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิท (ขวา) ถ่ายคู่กับจอห์น ฮาเวิร์ด มาร์คัส สมิท ผู้ก่อตั้งเซาท์แลนด์แอโรโดรม (ซ้าย) ที่เมืองอินเวอร์คาร์กิลล์ ประเทศนิวซีแลนด์ (ประมาณ ค.ศ. 1930)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาลส์ คิงส์ฟอร์ด สมิท http://www.naa.gov.au/about-us/publications/fact-s... https://web.archive.org/web/20110809132241/http://... http://visaparaaustralia.com/immigration-to-austra... https://web.archive.org/web/20120425120631/http://... https://web.archive.org/web/20110312041850/https:/... https://www.bdm.qld.gov.au/IndexSearch/queryEntry.... http://nla.gov.au/nla.news-article3645451 https://web.archive.org/web/20220717024804/https:/... http://nla.gov.au/nla.news-article42944512 https://web.archive.org/web/20220717024804/https:/...